โครงการการพัฒนาผู้ประกอบการด้านวัฒนธรรม นวัตกรวัฒนธรรมเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มของผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรมและกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่
จังหวัดเชียงใหม่เป็นจังหวัดที่มีความโดดเด่นทางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นวัฒนธรรม ด้านอาหาร วิถีชีวิต ศิลปะ ในอดีตการท่องเที่ยวจะเป็นเรื่องของวิถีชีวิต และสถานที่ ได้แก่ ดอยสุเทพ วัดวาอารามต่าง ๆ ซึ่งล้วนแล้วแต่มีความเป็นเอกลักษณ์แบบล้านนา ที่โดดเด่นแตกต่างจังหวัดอื่น ๆ ในประเทศ กล่าวได้ว่าเชียงใหม่มีเสน่ห์มรดกวัฒนธรรม ที่ถือว่าเป็น "ทุนทางวัฒนธรรม" (Cultural Capital) ที่มีผลผลิตทางวัฒนธรรมทั้งที่จับต้องได้และจับต้องไม่ได้ ทุนทางวัฒนธรรมที่จับได้ เช่น โบราณสถาน มรดกทางวัฒนธรรม ผลงานศิลปะแขนงต่าง ๆ ทั้งภาพวาด หัตถกรรม ดนตรี ภาพยนตร์วรรณกรรม เหล่านี้มักจะวัดมูลค่าเป็นตัวเงินได้ ส่วนทุนวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ได้แก่ ความเชื่อ จารีต ประเพณี วิถีชีวิต แรงบันดาลใจที่นำามาสู่ความคิดสร้างสรรค์ต่างๆ มักได้มาจากทุนวัฒนธรรมและภูมิปัญญา ซึ่งเป็นสิ่งที่สั่งสมและคงอยู่คู่กับสังคมมนุษย์ หลายประเทศให้ความสนใจในการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจด้วยวัฒนธรรมที่เปรียบเสมือนเครื่องมือของผู้ประกอบการที่จะใช้ในการพัฒนา ยกระดับสินค้าและบริการ เพื่อให้ผลิตภัณฑ์เกิดความแตกต่าง เป็นการสร้างอัตลักษณ์ให้แก่สินค้าและบริการของตนให้มีความสามารถแข่งขันได้ในระยะยาว โดยเฉพาะเศรษฐกิจยุคใหม่ที่เข้าสู่เศรษฐกิจแบบดิจิทัล ทำให้ผู้ประกอบการเข้าถึงลูกค้าได้อย่างสะดวกมากขึ้น
แต่อย่างไรก็มักจะพบว่ากับปัญหาที่ว่าผู้ประกอบการไม่มีโอกาสสืบค้นเรื่องต้นทุนทางวัฒนธรรมอันเป็นเสน่ห์ในถิ่นของตนเอง หรือผู้ประกอบการบางรายที่รู้จักกับทุนวัฒนธรรมท้องถิ่นของตนเองแล้วก็มักจะพบกับปัญหาการดึงเสน่ห์ทุนวัฒนธรรมซึ่งเป็นของเก่าแก่มาใช้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์/บริการทางวัฒนธรรม การนำเสน่ห์จากทุนทางวัฒนธรรมมาใช้จึงต้องมีการประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมและสอดคล้องกับผลิตภัณฑ์/บริการทางวัฒนธรรมรวมถึงกลุ่มตลาดเป้าหมายที่มาซื้อหรือใช้บริการ ดังนั้นการประยุกต์จึงถือเป็นนวัตกรรมซึ่งไม่ได้หมายถึงสิ่งประดิษฐ์ใหม่ ๆ ดังเช่น เก้าอี้ไม้แท้ ๆ เนื้อหนาแบบโบราณ แม้จะทรงคุณค่าแต่ในยุคที่เราต้องใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างมีคุณค่า การดึงเพียงเสน่ห์ของรูปทางเครื่องเรือนโบราณมาใส่ในวัสดุสังเคราะห์สมัยใหม่นับเป็นวิธีหนึ่งการนำทุนวัฒนธรรมมาใช้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ หากจังหวัดเชียงใหม่ได้มีการนำแนวคิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์/บริการโดยใช้ทุนทางวัฒนธรรมมาประยุกต์ใช้เพื่อยกระดับทุนทางวัฒนธรรมให้สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าทางวัฒนธรรมโดยการดำเนินกิจกรรมการส่งเสริมการพัฒนาทุนทางวัฒนธรรมที่ชัดเจน และพัฒนากลไกการทางานด้านการพัฒนาทุนทางวัฒนธรรมที่สอดประสานกันระหว่างมหาวิทยาลัยในท้องถิ่นร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อนำไปสู่การพัฒนาแบรนด์ (Brand Development) การพัฒนาให้ภาพลักษณ์ (Image) และชื่อเสียง (Reputation) ของสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ให้มีคุณค่าทางเศรษฐกิจและคุณค่าทางจิตใจ ผ่านการสื่อสารที่เป็นระบบสะท้อนให้เห็นถึงคุณลักษณะเด่นของสินค้าหรือผลิตภัณฑ์นั้นอย่างชัดเจน จะทำให้ทุนทางวัฒนธรรมถือเป็นสินทรัพย์ (Asset) อันทรงคุณค่าของชุมชนท้องถิ่น การจะทำให้สินทรัพย์เหล่านี้ก่อให้เกิดรายได้แก่ชุมชนและประเทศชาติ
อำเภอหางดง มีมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่เป็นช่างฝีมือดังเดิมที่เป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย ได้แก่บ้านถวาย เป็นหมู่บ้านหัตถกรรม ที่มีชื่อเสียงด้านช่างฝีมือการแกะสลักไม้และการสร้างงานประติมากรรมจากไม้ บ้านเหมืองกุง เป็นหมู่บ้านที่มีชื่อเสียงด้านการทำเครื่องปั้นดินเผาและการทำน้ำต้น (คนโฑ) ทั้งในรูปแบบดั้งเดิมและต่อยอดให้เกิดผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ บ้านสันทรายพัฒนาที่มีชื่อเสียงด้านหัตถกรรมจักสานการจักสานเสื่ออ่อนหรือสาดอ่อน คือ ต้นสาด (ผิวกก) และได้ทำการพัฒนาได้พัฒนาผลิตภัณฑ์ออกมาเป็นสินค้าหลากหลายประเภท เพื่อให้สอดคล้องกับยุคสมัยและการใช้งานมากขึ้น เป็นต้น
อำเภอสะเมิง มีมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่เป็นช่างฝีมือดังเดิมที่เป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย ได้แก่ บ้านแม่สาบที่มีภูมิปัญญาในการทอผ้าที่มีเอกลักษณ์และมีการนำผ้าที่ทอขึ้นไปใช้ในรูปแบบต่างๆ นอกจากนี้ยังมีมรดกทางวัฒนธรรมด้านศิลปะการแสดง ที่ควรค่าแก่การอนุรักษณ์ไว้ เช่น การขับซอ เป็นการขับร้องด้วยบทร้อยกรองที่เป็นภาษาคำเมืองล้านนา และเป็นศิลปะการแสดงพื้นบ้านที่อยู่ในวิถีชีวิตของคนในพื้นที่ และการฟ้อนก๋ายลาย การฟ้อนก๋ายลาย บ้านเหล่าแสนตอง เป็นศิลปะการแสดงพื้นบ้านที่เป็นเอกลักษณ์ โดยมีการผสมผสานการฟ้อนแบบพื้นเมืองล้านนาและการฟ้อนลายหรือฟ้อนเจิง ซึ่งเป็นศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัว นิยมทำการแสดงในงานบุญประจำปี ดังที่กล่าวมาข้างต้น ทุนทางวัฒนธรรมต่าง ๆ เหล่านี้ ยังคงฝังรากลึกอยู่ในทั้งสองอำเภอตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบัน โดยที่คนในชุมชนมีเจตนารมณ์อย่างแน่วแน่ที่จะอนุรักษ์และเผยแพร่ ทุนศิลปวัฒนธรรมของชุมชนตนเองเอาไว้ตราบนานเท่านาน เพื่อลูกหลานรุ่นต่อรุ่นสืบไป
จากพื้นที่ในเชียงใหม่อำเภอ หางดง และสะเมิง เป็นอำเภอทีมีเอกลักษณ์ทางด้านวัฒนธรรมเฉพาะในแต่ละด้านควรค่าแก่การอนุรักษ์ และมีนวัตกรวัฒนธรรมเฉพาะด้านให้ความรู้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์/บริการทางวัฒนธรรมของแต่ละชุมชน สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์/บริการทางวัฒนธรรมได้ และช่วยให้รายได้ของผู้ประกอบการทางวัฒนธรรมเพิ่มขึ้นจากการจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์/บริการผ่านระบบออนไลน์ ส่งผลให้เศรษฐกิจระบบฐานรากมีความมั่นคงและขยายตัวเพิ่มขึ้น ดังนั้นคณะผู้วิจัยศึกษาถึงการพัฒนาผู้ประกอบการด้านวัฒนธรรม นวัตกรวัฒนธรรม และผลิตภัณฑ์/บริการเชิงวัฒนธรรมเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่และสามารถเป็นต้นแบบให้กับพื้นที่อื่น ๆ ต่อไป
การบวนการสร้างนวัตกร